เรื่องน่ารู้ของเมืองไทยที่คุณต้องอึ้ง
เรื่องน่ารู้ของไทย
ในสมัยเด็กๆ หลายคนอาจจะต้องท่องจำว่า ใครคือนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย แบบเรียนเล่มแรกของไทยชื่ออะไร ใครเป็นผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมี ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หลายคนก็ยังจำได้อยู่ แต่หลายคนก็อาจจะลืมเลือน ดังนั้น เพื่อเป็นการทบทวนความจำ ทั้งความรู้เก่าและเกร็ดความรู้ใหม่ ที่บางคนอาจจะไม่เคยทราบมาก่อนเกี่ยวกับประเทศไทย ด้วยบร๊ะลานุภาพของโจ๊กโซคูล จึงขอนำสาระบางส่วนจากหนังสือ “ความรู้รอบตัว รอบรู้เรื่องเมืองไทย” ของฝ่ายวิชาการชมรมเด็ก ซึ่งจัดพิมพ์โดยสุวีริยาสาส์น มาเพื่อเสนอดังต่อไปนี้
แบบเรียนเล่มแรกของไทย
แบบเรียนเล่มแรกของไทยชื่อ “จินดามณี” แต่งโดย พระมหาราชครู กวีในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ปี พ.ศ. 2199 - 2231)
ถนนสายแรกในเมืองไทย
ถนนสายแรกในเมืองไทย คือ ถนนเจริญกรุง (New Road) สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2404 โดยต่อมาได้มีการตัดถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร รวมทั้งถนนพระราม 4 และถนนสีลมในเขตชานพระนคร
น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก
น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ประมาณ พ.ศ. 2410 สันนิษฐานว่า ผลิตที่สิงคโปร์แล้วส่งมาถวาย โดยใส่หีบกลบขี้เลื่อย คนเฒ่าคนแก่ในสมัยนั้น ไม่เชื่อว่าจะทำน้ำแข็งได้จริง ถึงกับออกปากว่า “จะปั้นน้ำเป็นตัวได้อย่างไร”
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จประพาสต่างประเทศ
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่เสด็จประพาสต่างประเทศคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเสด็จประพาสสิงคโปร์เป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2413 และเสด็จชวาด้วย
ผู้ที่ประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี
ผู้ที่ประพันธ์เพลงสรรเสริญพระบารมี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ โดยมีนายปโยตร์ ซูโรฟสกี้ (Pyotr Shchurovsky) ชาวรัสเซีย แต่งทำนองเพลงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2431
ธนบัตรหรือเงินกระดาษของไทย
ธนบัตรหรือเงินกระดาษของไทย ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ผลิตขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 พิมพ์ออกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2445 โดยก่อนหน้านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการผลิตธนบัตร หรือเงินกระดาษออกใช้เป็นครั้งแรก ในเมืองไทยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2396 แต่เรียกว่า “หมาย” ทำด้วยกระดาษปอนด์สีขาวรูปสี่เหลี่ยม พิมพ์ลวดลายด้วยหมึกทั้งสองด้าน และประทับตรา พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ตราจักร และพระราชลัญจกรประจำรัชกาลสีแดงชาด (ลัญจกร อ่านว่า ลัน-จะ-กอน แปลว่า ตราสำหรับใช้ตีหรือประทับ ราชาศัพท์ใช้คำว่า พระราชลัญจกร)
ผู้ที่คิดออกลอตเตอรี่เป็นคนแรกในเมืองไทย
ผู้ที่คิดออกลอตเตอรี่เป็นคนแรกในเมืองไทย คือ มิสเตอร์เฮนรี่ อาลบาสเตอร์ (ต้นตระกูล “เศวตศิลา”) ชนชาติอังกฤษ เป็นผู้นำลักษณะการออกรางวัลสลากแบบยุโรปมาเผยแพร่เป็นคนแรก โดยเรียกว่า “ลอตเตอรี่” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมทหารมหาดเล็กออกลอตเตอรี่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗ เนื่องในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
คนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเครื่องบิน
คนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเครื่องบิน คือ พระบรมวงศ์เธอ กรมพระยากำแพงเพ็ชรอัครโยธิน โดยประทับเครื่องบินออร์วิลไรท์ คู่กับกัปตัน มร.เวนเดนเปอร์น ซึ่งขับวนเวียนเหนือสนามราชกรีฑาสโมสร เป็นเวลา 3 นาที 45 วินาที เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2453 เป็นเครื่องบินที่บริษัทฝรั่งเศสนำมาแสดง ณ ราชกรีฑาสโมสร(สนามม้านางเลิ้ง) ซึ่งถือว่าเป็นสนามบินแห่งแรก ที่ใช้ในการบินของเมืองไทยด้วย
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงผ่านการศึกษาจากต่างประเทศคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เมื่อครั้งทรงยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เมื่อปี พ.ศ. 2436 - 2445 รวมระยะเวลา 9 ปี
นามสกุลหมายเลข 1 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงคิดพระราชทาน
นามสกุลหมายเลข 1 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงคิดพระราชทาน คือ นามสกุล “สุขุม” พระราชทานเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2456 ต้นสกุลคือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)
ผู้ที่ให้กำเนิดรถแท็กซี่ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก
ผู้ที่ให้กำเนิดรถแท็กซี่ขึ้นในประเทศไทยครั้งแรก คือ พลโท พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นรถยนต์นั่ง (รถเก๋ง) ยี่ห้อออสติน จำนวน 4 คัน เปิดบริการรับจ้างครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2466 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในสมัยนั้นเรียกว่า “รถไมล์”
ประเทศไทยเริ่มนับเวลา ตามแบบสากลครั้งแรก
ประเทศไทยเริ่มนับเวลา ตามแบบสากลครั้งแรกในสมัย รัชกาลที่ 6 โดยแต่เดิมเรานับเวลาตอนกลางวันเป็น “โมง” และตอนกลางคืนเป็น “ทุ่ม” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้เปลี่ยนมาเรียกว่า “นาฬิกา” (เขียนย่อว่า “น.”) และให้นับเวลาทางราชการใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับธรรมเนียมสากลนิยม โดยให้ถือว่าเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นเวลาเปลี่ยนวันใหม่ และให้ถือเวลาที่ตำบลกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นมาตรฐาน ซึ่งเวลาในประเทศไทย เป็นเวลาก่อนหรือเร็วกว่าเวลาที่กรีนิช 7 ชม. เช่น ไทยเป็นเวลา 19.00 น. ทางกรีนิชเท่ากับ 12.00 น. เป็นต้น
ผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรก
ผู้ที่ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรก คือ มิสเตอร์เอ็ดวิน แมกพาแลนด์ ยี่ห้อเรมิงตัน
นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย คือ พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 - 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ส่วนนายกรัฐมนตรีคนแรก ที่ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งคือ นายควง อภัยวงศ์ หลังจากที่เข้าดำรงตำแหน่งได้ประมาณ 1 เดือนเศษ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ได้ถูกคณะนายทหารเข้าพบ เพื่อขอร้องแกมบังคับ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้กับจอมพลป. พิบูลสงคราม กลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3
ยศสูงสุดของทหารไทย
ยศสูงสุดของทหารไทย คือ ยศจอมพล แต่ปัจจุบันไม่มีการแต่งตั้งแล้ว ยศสูงสุดทางทหารในปัจจุบันคือ “พลเอก” ผู้ที่เป็นจอมพลคนแรกของไทยคือ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงเป็นต้นสกุล “ภาณุพันธุ์” ส่วนจอมพลคนแรกในระบอบประชาธิปไตย คือ จอมพลป. พิบูลสงคราม และคนสุดท้าย ที่ดำรงตำแหน่งจอมพลในระบอบประชาธิปไตยคือ จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2516 (สำหรับพระมหากษัตริย์ จะทรงดำรงตำแหน่ง “จอมทัพไทย”)
ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทยในปัจจุบัน
ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทยในปัจจุบัน คือ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) เป็นผู้แต่งทำนอง และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง เมื่อ พ.ศ. 2483
ผู้ที่คิดฝนเทียม หรือ ฝนหลวง ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
ผู้ที่คิดฝนเทียม หรือ ฝนหลวง ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โดยได้ทรงค้นคิดและวิจัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 และทรงถ่ายทอดแนวพระราชดำริ และผลการวิจัยแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล วิศวกรผู้เชี่ยวชาญทางการเกษตร จนมีการทำฝนหลวงพระราชทานครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2512
มกุฎราชกุมารพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
มกุฎราชกุมารพระองค์แรก ที่ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย
สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยทรงจบอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2519
คนไทยคนแรก ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสมัชชาใหญ่ แห่งสหประชาชาติ
คนไทยคนแรก ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสมัชชาใหญ่ แห่งสหประชาชาติ คือ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2499
ผู้นำไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ
ผู้นำไทยคนแรก ที่ได้รับรางวัลแมกไซไซ คือนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของไทย ได้รับในสาขางานบริการภาครัฐบาล ประจำปี พ.ศ. 2540
ทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งในหนังสือดังกล่าว ซึ่งหวังว่าจะทำให้ผู้อ่าน และผู้สนใจได้รับความรู้เพิ่มขึ้น เรียบเรียงจากหนังสือ ความรู้รอบตัว รอบรู้เรื่องเมืองไทย โดย ฝ่ายวิชาการชมรมเด็ก โทร.02-871-7542
0 Response to "เรื่องน่ารู้ของเมืองไทยที่คุณต้องอึ้ง"
แสดงความคิดเห็น